รู้จักโรครองช้ำ อาการบาดเจ็บเรื้อรัง ที่น่ารำคาญ ที่ไม่เป็นนักกีฬาก็เป็นได้
โรครองช้ำ เป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาก็บาดเจ็บได้ หากเรียกกันเป็นภาษาวิชาการ โรครองช้ำก็คือโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือเอ็นส้นเท้าอักเสบ นั่นเอง โดยจะมีอาการปวดส้นเท้าและฝ่าเท้า ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่า เป็นการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อธรรมดาๆ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะเป็นการบาดเจ็บเรื้อรัง

– โรครองช้ำฺ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
โรครองช้ำเกิดขึ้นได้มากมายหลายสาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดกับนักกีฬา การใช้ชีวิตประจำวันแบบธรรมดาๆ ก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยอาการเพียงเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจกลายเป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรังตามมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้ มีดังนี้
1. การมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ที่ส่งผลให้เวลาเดิน จะเกิดแรงกดที่ฝ่าเท้าอย่างรุนแรง จนผังพืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ
2. ยืนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักกดทับเป็นเวลานานกว่าปกติ
3. ลักษณะเท้าผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าแบน หรืออุ้งเท้าสูง หรือโก่งเกินไป
4. รองเท้าที่สวมใส่ไม่เหมาะสมกับเท้า เช่น ใส่รองเท้าส้นสูง, รองเท้าที่คับ หรือหลวม ตลอดจนพื้นรองเท้าบางเกินไป
5. ใช้งานฝ่าเท้าหรือส้นเท้าหนักเกินไป เช่น การวิ่งในระยะที่มากเกินไป หรือวิ่งนานเกินไป รวมไปถึงการวิ่งบนพื้นแข็ง หรือขรุขระเกินไป
6. เอ็นร้อยหวายยึด ทำให้ส้นเท้าเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ
7. การป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ ข้อสันหลังอักเสบ ก็ทำให้โอกาสเกิดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูกมีมากขึ้น
8. ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า
9. ไขมันบริเวณส้นเท้าฝ่อลีบ ที่เกิดจากความเสื่อมสภาพตามวัย

– อาการของโรครองช้ำ จุดเริ่มต้นของอาการบาดเจ็บเรื้อรัง
อาการของโรครองช้ำ ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การบาดเจ็บเรื้อรัง จะเป็นการปวดบริเวณส้นเท้าแล้วลามทั่วฝ่าเท้า อาการจะรุนแรงมากจากการเดินก้าวแรกของวัน เช่น การลุกจากเตียงหลังตื่นนอน
ระหว่างวัน เมื่อเดินลงน้ำหนักมีอาการปวดแปล้บๆ บริเวณฝ่าเท้าหรือส้นเท้า บางครั้งอาจปวดเพียงไม่นานแล้วก็หายไป จนบางคนคิดว่าอาการป่วยหายเองได้ แต่จะกลับมาปวดอีกเรื่อยๆ
– การรักษาโรครองช้ำ ก่อนจะเป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรัง
การรักษาโรครองช้ำ ควรทำอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เป็นการบาดเจ็บเรื้อรัง การรักษาทำได้หลายวิธี แต่ไม่ควรฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเหมาะกับผู้มีอาการรุนแรงเท่านั้น และไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดบริเวณส้นเท้า เพราะจะทำให้รักษาได้ยากขึ้น และอาจเกิดภาวะกระดูกติดเชื้อ ไขมันฝ่าเท้าฝ่อ หรือเอ็นฝ่าเท้าฉีกขาด ที่รักษาได้ยากตามมา
1. ลดการใช้เท้าไม่ว่าจะเดิน, วิ่งหรือว่าเดิน
2. บริหารเอ็นร้อยหวาย และพังผืดฝ่าเท้า ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาแล้ว ยังป้องกันการเกิดโรครองช้ำได้ด้วย
3. ยืดเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า ด้วยการใช้ฝ่าเท้าเหยียบคลึงวัสดุต่างๆ เช่น ท่อพีวีซี, ลูกเทนนิส หรือขวดน้ำพลาสติกขนาดเล็ก รวมถึงยืนหันหน้าเข้ากำแพง แล้วงอเข่าข้างหนึ่งไปด้านหน้าพร้อมเอามือดันกำแพง จนข้อเท้าอีกข้างรู้สึกตึง ค้างไว้ 10-15 วินาทีแล้วเปลี่ยนข้าง
4. เปลีี่ยนแผ่นรองส้นเท้า เลือกใช้แผ่นรองเท้าที่อ่อนนุ่ม รวมไปถึงสวมรองเท้าที่เหมาะสมกับเท้าของตนเอง สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี การใส่เฝือกอ่อน จะช่วยลดการเคลื่อนไหวที่ข้อเท้าได้ จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยลดอาการอักเสบในช่วงแรก
5. การใช้คลื่นความถี่ ซึ่งจะกระตุ้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้า ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงเพื่อซ่อมแซมตัวเอง
6. การผ่าตัด จะใช้กับผู้ป่วยที่รับการรักษาแล้วไม่หายขาด เพื่อผ่าตัดพังผืดเท้าบางส่วน หรือนำหินปูนที่กระดูกส้นเท้าออก
7. ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Night Splints ซึ่งทำให้เท้าอยู่ในตำแหน่งปกติเวลานอน และช่วยให้เส้นเอ็นหายเร็วขึ้น รวมถึงทำให้เวลาตื่นในตอนเช้า ความเจ็บปวดส้นเท้าลดลง

ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ถ้ามีอาการเจ็บส้นเท้า หรือฝ่าเท้าต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนจะเป็นการบาดเจ็บเรื้อรัง เพราะอาจเป็นโรครองช้ำ โดยปกติอาการจะดีขึ้นภายใน 2 เดือน หลังได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ภาพ thrivephysioplus.com, physiotherapyoakville.com, nbcnews.com
#ข่าวสาร #ความรู้ #สุขภาพ #ครอบครัว #กีฬา #ออกกำลังกาย #รู้จักโรครองช้ำ