พิษจากสารเคมีที่อยู่ในอาหาร
การใช้ชีวิตประจำวันของคนเราทำให้ต้องเผชิญกับสารเคมีที่มีพิษต่างๆ มากมาย ทั้งในอากาศ ไปจนกระทั่งในอาหารที่รับประทานอยู่ทุกๆ วัน สารเคมีที่ปนเปื้อนมากับอาหารอาจมาจากกระบวนการผลิตไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการผลิต โรงงาน การดูแลรักษา การบรรจุ ตลอดจนการขนส่งและการเก็บรักษา หรือเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นคือผู้ผลิตบางรายนำสารเคมีผสมในอาหาร ซึ่งสารเคมีบางอย่างก็เป็นพิษต่อร่างกาย บางชนิดหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้

– พิษจากสารที่เติมเข้าไปในอาหาร
สารเคมีชนิดแรกคือ สีผสมอาหาร ผู้ผลิตอาหารบางรายใช้สีผสมอาหารไม่ถูกต้อง ด้วยความ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางรายใช้สีย้อมผ้ามาผสมอาหาร ซึ่งในสีย้อมผ้าดังกล่าวอาจมีโลหะที่เป็นพิษ เช่น แคดเมียม โครเมียม ปรอท สารหนู ตะกั่ว เซลเลเนียม เจือปนอยู่ด้วย และเป็นพิษทําให้เกิดโรคมะเร็งได้ อาหารบางอย่างที่อาจพบสีที่เป็นอันตรายเจือปนอยู่ ได้แก่ ซอสสีแดงสําหรับใส่อาหารจําพวกเย็นตาโฟ ข้าวผัด อาหารจําพวกไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง ฝรั่งดอง มะม่วงดอง ขนมหวานบางชนิด เช่น ขนมชั้น ทองหยิบ ฝอยทอง ซ่าหริ่ม เป็นต้น
สารที่เติมเข้าไปในอาหารและเป็นพิษชนิดต่อมาคือ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นสารจําพวกซัคคาริน ดัลซิล กรดซัยคลามิค สารพวกนี้ถ้าบริโภคติดต่อกันนานๆ อาจทําให้เกิดพิษกับระบบทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะดัลซิลและกรดซัยคลามิค ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทําให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ในประเทศไทยได้ประกาศห้ามนํามาใช้ผสมอาหารและเป็นสารที่ห้ามสั่งนําเข้าประเทศด้วย เคยมีการพบเกลือของกรดซัยคลามิคในอาหารประเภทเครื่องดื่ม บ๊วยเค็ม มะม่วงตากแห้ง ลูกท้อแห้ง เป็นต้น
ชนิดสุดท้ายคือ วัตถุกันเสีย เป็นสารที่เติมเข้าไปในอาหารและสามารถก่อพิษได้ วัตถุกันเสียที่ใช้กันมากในอาหารที่ต้องการเก็บไว้นานๆ แต่มีการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ กรดซาลิซิลิค ซึ่งพบในอาหารประเภทเครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง น้ำพริกสําเร็จรูปสําหรับคลุกข้าว พวกผลไม้ แช่อิ่มตากแห้ง หัวไชโป๊ว เป็นต้น รวมทั้งพบการใช้บอแรกซ์เป็นวัตถุกันเสีย ทําให้เหนียวและกรอบหรือกรุบ โดยเคยตรวจพบในลูกชิ้นเนื้อวัว ลูกชิ้นปลา หมูยอ แหนม

– พิษจากสารที่ปะปนมากับอาหาร
สารที่ปะปนมากับอาหารมักเป็นสารที่ไม่ได้เติมลงในอาหารแต่สามารถปะปนมาในอาหารได้ กลุ่มแรกคือ โลหะที่เป็นพิษ เช่น สารหนู ตะกั่ว ทองแดง ปรอท เป็นต้น สารพวกนี้อาจละลายติดปนในอาหารจากภาชนะที่บรรจุ เช่น จาน ชาม หม้อ กระป๋อง เป็นต้น
แต่ยังไม่พบว่ามีปริมาณสูงเกินกว่ามาตรฐานที่กําหนดไว้ ส่วนการวิเคราะห์ปรอทในพวกอาหารทะเลสด เช่น กุ้ง ปลา ปรากฏว่าพบปรอทบ้าง แต่มีปริมาณน้อยมาก อยู่ในขั้นที่ปลอดภัยต่อการบริโภค สารพิษอีกชนิดที่ปะปนมากับอาหารคือ สารตกค้างของยาฆ่าแมลง ส่วนใหญ่เป็นพวก ดี.ดี.ที. แต่เท่าที่ตรวจพบปริมาณยังไม่เกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก ได้กําหนดไว้ สารตกค้างของยาฆ่าแมลง ที่ติดมาในอาหารนี้มาจากการใช้ยาฆ่าแมลงของเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่
โดยตรวจสอบพบในผัก ผลไม้ นม ไข่ เนื้อสัตว์ เนื่องจากสัตว์กินอาหารที่มีสารตกค้างของยาฆ่าแมลงเข้าไป ผลจากการศึกษาพบว่า สารพวกนี้เข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน เช่นที่ต่อมอะดรีนาล ต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ยังพบสะสมอยู่ในสมอง ตับและไต

สารพิษในอาหารนั้นมีที่มาจาก 2 แหล่งคือ การแต่งเติมลงไปในอาหาร เช่น สีผสมอาหาร สารให้ความหวาน วัตถุกันเสีย กับการปะปนมากับอาหาร เช่น โลหะหนัก สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง ทำให้
ในแต่ละวันคนเราต้องเผชิญกับสารพิษต่างๆ มากมาย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมความพร้อม จึงควรพิจารณาว่าอาหารที่เลือกรับประทานนั้นมีโอกาสพบสารพิษอะไรบ้าง จะได้หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกายได้
เคดิตภาพจาก pixabay.com
#ข่าวสาร #ความรู้ #สุขภาพ #ครอบครัว #กีฬา #ออกกำลังกาย #สารเคมีที่อยู่ในอาหาร