ผลเสียของการกินหวานมากไป
วัยรุ่นกับขนมหวานและเครื่องดื่มรสหวานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอดอย่างที่ปฎิเสธไม่ได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่สื่อการตลาดได้แทรกเข้าในทุกๆ ช่องทางของชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนใหญ่วัยรุ่นใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามร้านขนมและเครื่องดื่ม ประกอบกับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างชาติได้ทำให้ร้านถูกรังสรรค์ ตกแต่งบรรยากาศในรูปแบบที่ทันสมัย มีการจัดวางขนมและเครื่องดื่มให้น่ารับประทานเพื่อดึงดูดให้วัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าใช้บริการ
แต่ทว่าสิ่งที่แฝงอยู่ขนมหวานและเครื่องดื่มเหล่านี้ก็คือ น้ำตาลที่มีส่วนช่วยให้เกิดรสหวาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังไม่รับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ

– สุขภาพเสื่อมเพราะความหวาน
การรับประทานขนมหวานและเครื่องดื่มรสหวานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน คนๆ นั้นจะเกิดสภาวะเสพติดน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เพราะเมื่อบริโภคในปริมาณมากเป็นประจำ ก็จะเกิดความเคยชินติดรสหวาน ถ้าหยุดกินจะมีความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า ขาดสมาธิเนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการดังกล่าวเรียกว่า อาการซึมเศร้าจากการขาดน้ำตาล (Sugar Blues) เมื่อบริโภคน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป
น้ำตาลจะเข้าสู่กระแสเลือดและร่างกายจะส่งไปเก็บไว้ที่ตับ ในรูปแบบไกลโคเจน ซึ่งจะเก็บไว้ได้ 50 กรัม หากปริมาณมากกว่านี้ตับจะส่งกลับไปที่กระแสเลือดแล้วเปลี่ยนเป็นกรดไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว เช่น สะโพก หน้าท้อง ต้นขา ต้นแขน หากยังบริโภคน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง กรดไขมันก็จะไปสะสมตามอวัยวะภายในต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต เป็นต้น ส่งผลให้เกิด โรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน หัวใจและ หลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

– ทำอย่างไรให้หยุดหวาน
เริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ และตรงเวลา ส่วนอาหารว่างระหว่างมื้ออีก 1-2 มื้อ ควรเป็นผลไม้ เพื่อปรับให้ร่างกายคุ้นเคยกับการรับสารอาหารอย่างเต็มที่ เป็นการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ เลือกรับประทานผักและผลไม้สดเป็นหลัก หากต้องการของหวานมากๆ ให้เน้นผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ส้ม มะละกอ แอปเปิ้ล เพราะน้ำตาลจากผลไม้สดจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
หากเกิดการเหนื่อยล้าอย่าเข้าใจผิดว่าการรับประทานของหวานจะช่วยได้ ถ้าเพลียมากๆ ควรนอนพักผ่อน ไม่ควรรับประทานของหวานเพื่อเพิ่มความกระชุ่มกระชวย วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ห่างของหวานได้คือเก็บของหวานให้ไกลตัวที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ อย่าให้มีอยู่ในบ้าน บนโต๊ะทำงาน หรือในกระเป๋า
งดน้ำตาลเทียมทุกชนิด เพราะแม้จะไม่ทำให้อ้วน แต่ก็ทำให้ติดรสหวานได้เช่นกัน ใช้น้ำตาลธรรมชาติแท้ๆ แทน เช่น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมจากข้าวโพด รวมทั้งพยายามดื่มน้ำให้มากๆ จะช่วยลดความอยากน้ำตาลได้ หาเวลาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือใช้ออกกำลังมากกว่าปกติเช่น เต้นแอโรบิค วิ่ง โยคะ เพื่อให้ร่างกายได้นำน้ำตาลส่วนเกินออกมาใช้
ต้องอ่านฉลากก่อนทุกครั้งที่จะต้องซื้ออาหารที่มีรสหวาน ถ้าเป็นอาหารชนิดเดียวกัน ให้ลองเลือกดู จากหลายๆ ยี่ห้อ และเทียบปริมาณน้ำตาลดูว่ายี่ห้อไหน มีน้ำตาลน้อยที่สุดให้เลือกยี่ห้อนั้น

ถึงแม้ว่าอาหารประเภทของหวานน่ารับประทานมาก แต่หากทานเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้อย่างมหาศาล แม้อาหารบางชนิดที่มีน้ำตาลอยู่มาก แต่ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ แต่เมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมากแล้วร่างกายก็จะเก็บสะสมอยู่ในรูปของไขมันอยู่ดี เมื่อรับประทานมากเกินไปจะทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก ทั้งนี้ในหนึ่งวัน ร่างกายของเราไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 4-6 ช้อนชา หรือ ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ เพราะฉะนั้นหวานมากไปก็ไม่ดีต่อร่างกาย
เครดิตภาพจาก pixabay.com
#ข่าวสาร #ความรู้ #สุขภาพ #ครอบครัว #กีฬา #ออกกำลังกาย #ผลเสียของการกินหวานมากไป